การวิพากษ์วิจารณ์ ของ เหตุการณ์ทุจริตการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2544

เมื่อประชาชนทราบผลการออกรางวัลที่ 1 ของการออกรางวัลในงวดดังกล่าว คือ 113311 ซึ่งขณะออกรางวัลที่ 1 นั้นได้เกิดสิ่งผิดปกติขึ้น คือกรรมการออกรางวัลภาคประชาชน 3 คน ในตำแหน่งหลักหมื่น หลักสิบ และหลักหน่วย มีพิรุธ ท่าทางก้มๆ เงยๆ ชำเลืองมองลูกบอลออกรางวัลหมายเลขต่างๆ ที่บรรจุในอุปกรณ์ออกรางวัลทรงกลม โดยมีการถ่ายทอดสดการออกรางวัลดังกล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนอย่างกว้างขวาง และเชื่อว่าการออกรางวัลในงวดดังกล่าวมีการ "ล็อกเลข" เกิดขึ้น โดยในระยะแรก ชัยวัฒน์ พสกภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในขณะนั้น ได้กล่าวปฏิเสธ อย่างไรก็ตาม วราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้ สมใจนึก เองตระกูล ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ตรวจสอบการออกรางวัลดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว หากพบการทุจริตก็ให้แก้ไขโดยเร่งด่วน[6] ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14-15 มิถุนายน สวนดุสิตโพล สถาบันราชภัฏสวนดุสิต (ชื่อในขณะนั้น) ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในกรณีดังกล่าว จำนวน 1,213 คน ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประกอบด้วยผู้ที่ซื้อสลากฯ ผู้ที่ไม่เคยซื้อสลากฯ ผู้ค้าสลากฯ และพนักงานสำนักงานฯ ปรากฏว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 33.83 ไม่แน่ใจว่ามีการล็อกเลข โดยผู้ที่ซื้อสลากฯ ส่วนใหญ่ร้อยละ 27.50 เชื่อว่ามีการล็อกเลข ส่วนเจ้าหน้าที่สำนักงานฯ ส่วนใหญ่ร้อยละ 77.21 เห็นว่าไม่มีการล็อกเลข และในกรณี "ความในใจที่อยากบอกสำนักงานฯ" ปรากฏว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 42.25 เห็นว่าสำนักงานฯ ควรแสดงความชัดเจน/โปร่งใส ทำให้เกิดความเชื่อใจโดยเร็วที่สุด[7]

เมื่อกรณีนี้กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง ในเดือนพฤศจิกายน 2544 เอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้สำรวจความเห็นของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับภาพลักษณ์และความรับผิดชอบของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จากกรณีล็อกเลขดังกล่าว พบว่า ประชาชนแสดงความคิดเห็นไปในทางไม่เชื่อมั่นสำนักงานฯ หลายประเด็น เช่น ประเด็นปัญหาการล็อกหวยดังกล่าว มีการทำเป็นขบวนการ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 86.0 เห็นว่าเชื่อ ประเด็นมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ ร่วมมือกับขบวนการล็อกหวย ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 76.0 เห็นว่าเชื่อ ประเด็นปัญหาดังกล่าวจะทำให้สำนักงานฯ เสื่อมเสียหรือไม่ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 88.1 เห็นว่าเชื่อ ผู้บริหารของสำนักงานสลากฯควรออกมาแสดงความรับผิดชอบหรือไม่ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 85.5 เห็นว่าควรแสดงความรับผิดชอบ และประเด็นมีความมั่นใจหรือไม่ว่ารัฐบาลสามารถแก้ปัญหากรณีล็อกหวยอย่างได้ผล ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 67.3 เห็นว่าไม่มั่นใจ โดยมีประชาชนที่แสดงความเห็นว่ามั่นใจเพียงร้อยละ 17.8 เป็นต้น[8][9]

นอกจากนี้ ภาคประชาชนยังได้กล่าวถึงสารเรืองแสงชนิดพิเศษ ซึ่งจะต้องสวมคู่กับแว่นตาชนิดพิเศษจึงจะมองเห็นตัวเลขภายในได้ ซึ่งคนร้ายอาจนำมาใช้ในการทุจริตการออกรางวัลในครั้งนี้[1] ซึ่ง ศ.ดร.โสภณ เริงสำราญ หัวหน้าภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้น กล่าวว่า เป็นไปได้ที่กลุ่มคนร้ายใช้สารพิเศษบางประเภท ร่วมกับคอนแทคเลนส์ประเภทโพลารอยด์ เพื่อใช้ในการทุจริตการออกรางวัลดังกล่าว ซึ่งเมื่อใช้น้ำมันหรือวาสลีนทาทับสารดังกล่าวก็จะมองไม่เห็น แต่จะมองเห็นเมื่อมองผ่านคอนแทคเลนส์ดังกล่าว แต่โสภณได้ปฏิเสธกรณีคนร้ายใช้ฟลูออเรสเซนต์ซึ่งเป็นสารเรืองแสง เพื่อการทุจริตดังกล่าว เนื่องจากเมื่ออมไว้ในปากจะทำให้ปากพอง[10] ซึ่งชัยวัฒน์ ได้กล่าวปฏิเสธในกรณีของการใช้สารเรืองแสงดังกล่าวเช่นกัน โดยกล่าวว่า ตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีการใช้สารเรืองแสงเคลือบลูกบอลหมายเลขต่างๆ ในการทุจริตการออกรางวัลในครั้งนี้[6]

แหล่งที่มา

WikiPedia: เหตุการณ์ทุจริตการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2544 http://writer.dek-d.com/0012/story/viewlongc.php?i... http://info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=8... http://www.ryt9.com/s/abcp/265613 http://www.ryt9.com/s/prg/265470 http://www.ryt9.com/s/prg/271131 http://www.ryt9.com/s/sdp/265779 http://www.siamturakij.com/main/news_content.php?n... http://www.siamturakij.com/main/news_content.php?n... http://tnews.teenee.com/politic/5019.html http://whitelottery.com/files/content/lottery%20to...